หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

More Bad News for Rosiglitazone

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือน สิงหาคม ปี 2553 -- อ่านแล้ว 2,493 ครั้ง
 
Thiazolidinediones (TZDs) เป็นกลุ่มยาลดระดับน้ำตาลในเลือดรูปแบบรับประทานที่มีการสั่งใช้มากในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งภายหลังยากลุ่มนี้ได้มีหลักฐานที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าสัมพันธ์กับการเกิดหัวใจล้มเหลว บทความนี้จะได้กล่าวถึงอาการข้างเคียงอื่นๆ ในระบบหัวใจและหลอดเลือดจากการใช้ rosiglitazone

การศึกษาล่าสุด 2 การศึกษาประเมินความเสี่ยงของอาการข้างเคียงในระบบหัวใจและหลอดเลือดของ rosiglitazone โดยการศึกษาแรกเป็นการศึกษาแบบ observational study ทำในผู้ป่วยจำนวน 227,571 คน อายุเฉลี่ย 74.4 ปี โดยผู้ป่วยเริ่มการรักษาด้วย rosigltitazone หรือ pioglitazone ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2006 ถึงมิถุนายน 2009 ระยะเวลาเฉลี่ยในการติดตามผลนาน 105 วัน จากผลการศึกษาพบว่าในกลุ่มที่ได้รับ rosiglitazone มีการเกิดอาการข้างเคียงในระบบหัวใจและหลอดเลือดมากกว่ากลุ่มที่ได้รับ pioglitazone อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งได้แก่ การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (hazard ratio, 1.27) โรคหัวใจล้มเหลว (HR, 1.25) การเสียชีวิตจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง (HR, 1.14) และผลลัพธ์รวมของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว และการเสียชีวิต (HR, 1.18) สำหรับความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพียงอย่างเดียวไม่พบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่ม สำหรับผลลัพธ์รวมของการเกิดอาการข้างเคียงในระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่ามี number needed to harm คิดเป็นผู้ป่วย 60 คนในเวลา 1 ปี

อีกการศึกษาหนึ่งเป็นการศึกษาแบบ meta-analysis ในปี 2007 ซึ่งเป็นการรวมข้อมูลจาก 56 การศึกษา ผู้ป่วยจำนวน 35,531 คนสุ่มให้ได้รับ rosiglitazone หรือการรักษาแบบควบคุม (ยาหลอก การดูแลตามปกติ การได้รับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดในกลุ่มที่ไม่ใช่ TZDs) เป็นระยะเวลามากกว่า 24 สัปดาห์ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ rosiglitazone มีความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงกว่าในกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (odds ratio, 1.28) แต่ผลทางด้านการเสียชีวิตจากโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือดไม่แตกต่างกัน

จากผลการศึกษาดังกล่าวนำมาซึ่งข้อควรระวังในการใช้ยา rosiglitazone ซึ่งจากผลการศึกษาทางคลินิกในปัจจุบัน ผลที่สรุปออกมาอาจมีความแตกต่างกัน เนื่องมาจากความต่างของรูปแบบของการศึกษา ลักษณะของผู้ที่ทำการศึกษา กลุ่มยาที่นำมาเปรียบเทียบ ระยะเวลาในการติดตามผล และวิธีการในการวัดผลต่างๆ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเหล่านี้ก็ได้เป็นข้อมูลสำหรับองค์การอาหารและยาที่จะทำการพิจารณาบทบาทของ rosiglitazone ต่อไป

 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้