หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Bisphosphonates ชนิดรับประทานลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน พฤศจิกายน ปี 2558 -- อ่านแล้ว 2,571 ครั้ง
 
Bisphosphonates เป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ที่ใช้กันมาก และยังใช้รักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมากเกินไปของเซลล์สลายกระดูก (osteoclast) เช่น Paget's disease ภาวะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและมีการทำลายเนื้อกระดูก (metastatic and osteolytic bone disease) ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเหตุจากโรคมะเร็ง (hypercalcemia of malignancy) ปัจจุบันมียาในกลุ่ม bisphosphonates ออกวางจำหน่ายในประเทศต่างๆ ไม่น้อยกว่า 11 ชนิด ได้แก่ etidronate, clodronate, tiludronate, pamidronate, alendronate, ibandronate, risedronate, zoledronate, olpadronate, neridronate และ minodronate มีข้อมูลค่อนข้างมากที่เกี่ยวกับการใช้ยาในกลุ่มนี้แล้วลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังกระดูกตลอดจนการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม นอกจากนี้มีการศึกษาที่แสดงว่ายาพวกที่มีไนโตรเจนในโครงสร้าง (N-containing bisphosphonates หรือ aminobisphosphonates) มีฤทธิ์ cytostatic, proapoptotic และ antimetastatic ซึ่งเป็นการสนับสนุนถึงผลดีของยาเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่อการเกิดและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

สำหรับความสัมพันธ์ของการใช้ bisphosphonates กับความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่นที่นอกเหนือจากมะเร็งเต้านมนั้นมีรายงานรายงานเช่นกัน และเมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของการใช้ bisphosphonates กับการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูก (endometrial cancer) โดยได้ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมใน Women's Health Initiative (WHI) study เป็น prospective cohort study ในสตรีวัยหมดประจำเดือนจำนวน 89,918 คน โดยแบ่งเป็น randomized clinical trials จำนวน 3 การศึกษา (n = 39,261; 44%) และ observational study จำนวน 1 การศึกษา (n = 50,657; 56%) ยาที่ใช้มากที่สุดคือ alendronate (มากกว่า 90%) ระยะเวลาที่ติดตามผลมีค่ากลาง (median) อยู่ที่ 12.5 ปี ผลการศึกษาพบผู้ที่เป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูกแบบลุกลาม (invasive endometrial cancer) 1,123 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 1,070 คนอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ bisphosphonates (อุบัติการณ์คร่าวๆ เท่ากับ 12 per 10,000 person-years) และมี 53 คนอยู่ในกลุ่มที่ใช้ bisphosphonates (อุบัติการณ์คร่าวๆ เท่ากับ 8 per 10,000 person-years) โดยในจำนวนนี้มี 47 คนอยู่ในกลุ่มที่ใช้ alendronate (อุบัติการณ์คร่าวๆ เท่ากับ 7 per 10,000 person-years) สรุปได้ว่าการใช้ bisphosphonates ในสตรีวัยหมดประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูก (bisphosphonate users: adjusted hazard ratio = 0.80, 95% CI = 0.64-1.00; p = 0.05; alendronate users: adjusted hazard ratio = 0.77, 95% CI = 0.61-0.98, p = 0.03) ส่วนกลไกยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับการที่ยาช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังกระดูก ประกอบกับผลการศึกษาที่พบว่ายามีคุณสมบัติด้าน proapoptotic และ cytostatic ดังกล่าวข้างต้นและอาจรวมถึง antiangiogenic ด้วย อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยกวนบางอย่างที่รบกวนผลการศึกษาโดยเฉพาะประวัติการใช้ยาที่ส่งผลกระทบต่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ตลอดจนประวัติการใช้ยา statins (เนื่องจากมีข้อมูลสนับสนุนถึงผลดีในการป้องกันมะเร็งเยื่อบุมดลูก) เป็นต้น



.อ้างอิงจาก:

(1) Newcomb PA, Passarelli MN, Phipps AI, Anderson GL, Wactawski-Wende J, Ho GY, et al. Oral bisphosphonate use and risk of postmenopausal endometrial cancer. J Clin Oncol 2015;33:1186-90; (2) Tomao F, Colombo N, Panici B. Is endometrial cancer risk reduced by oral bisphosphonate use? J Clin Oncol 2015;33:3670; (3) Rennert G, Rennert HS, Pinchev M, Lavie O. The effect of bisphosphonates on the risk of endometrial and ovarian malignancies. Gynecol Oncol 2014;133:309-13.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
bisphosphonate osteoporosis osteoclast Paget's disease metastasis metastatic and osteolytic bone disease hypercalcemia of malignancy etidronate clodronate tiludronate pamidronate alendronate ibandronate risedronate zoledronate olpa
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้