หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

IL-4 และ IL-13…เป้าหมายในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคภูมิแพ้

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 1 เดือน ตุลาคม ปี 2560 -- อ่านแล้ว 16,115 ครั้ง
 

Interleukin (IL)-4 และ IL-13 เป็นไซโตไคน์ (cytokine) ที่หลั่งมาจากเซลล์ชนิด T-helper type 2 (Th2) ไซโตไคน์ทั้งสองชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการสร้าง immunoglobulin E (IgE) จึงมีบทบาทสำคัญในโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis หรือ atopic eczema) นอกจากนี้ไซโตไคน์ทั้งสองชนิดดังกล่าวยังควบคุมการสร้าง proinflammatory cytokines และ chemokines อีกหลายอย่าง จึงเป็นไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการอักเสบ รวมถึงการเกิด ‘‘atopic inflammation’’ ด้วย เมื่อ IL-4 และ IL-13 จับกับตัวรับซึ่งตัวรับของไซโตไคน์ทั้งสองนี้มี IL-4 receptor alpha subunit (IL-4Rα) ที่เหมือนกัน (ดูรูป) และออกฤทธิ์ผ่าน JAK-STAT signaling pathway จะมีผลทำให้ keratinocyte differentiation เกิดลดลง กระตุ้น Th2 differentiation กระตุ้นการสร้าง IgE (class switching) ที่ B cell และอาจกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกคันด้วย กรณีที่เกี่ยวข้องกับอาการคันในโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังนั้นมีสารก่ออาการคัน (pruritogens) ชนิดอื่นที่มีความสำคัญมากกว่า IL-4 และ IL-13 ได้แก่ ฮีสตามีน (histamine) และ IL-31

การที่ตัวรับของ IL-4 และ IL-13 มี IL-4Rα subunit เหมือนกันดังนั้นยาที่ออกฤทธิ์ขัดขวางไม่ให้ไซโตไคน์ทั้งสองชนิดนี้จับที่ IL-4Rα subunit จึงมีศักยภาพในการรักษาโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ที่ผ่านมาได้มีการคิดค้นยาเพื่อการออกฤทธิ์ดังกล่าวและยาที่วางจำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ dupilumab ยานี้เป็น monoclonal antibody ที่จับจำเพาะกับกับ IL-4Rα subunit ใช้รักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้รักษาโรคหรือภาวะที่เกี่ยวกับภูมิแพ้ชนิดอื่นๆ เช่น โรคหืด (asthma), nasal polyposis และการแพ้อาหาร (food allergy) นอกจากนี้ยังมีการศึกษายาอื่นที่มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ต่อ IL-4 และ IL-13 เช่นกัน แต่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่างออกไป เช่น ออกฤทธิ์เป็น receptor antagonist ที่ IL-4Rα subunit ตัวอย่างได้แก่ pitrakinra และยาประเภท monoclonal antibody ที่ออกฤทธิ์จับจำเพาะกับ IL-13 ตัวอย่างได้แก่ tralokinumab และ lebrikizumab

อ้างอิงจาก:

(1) Paller AS, Kabashima K, Bieber T. Therapeutic pipeline for atopic dermatitis: end of the drought? J Allergy Clin Immunol 2017;140:633-43; (2) D’Erme AM, Romanelli M, Chiricozzi A. Spotlight on dupilumab in the treatment of atopic dermatitis: design, development, and potential place in therapy. Drug Des Devel Ther 2017;11:1473-80; (3) Barranco P, Phillips-Angles E, Dominguez-Ortega J, Quirce S. Dupilumab in the management of moderate-to-severe asthma: the data so far. Ther Clin Risk Manag 2017;13:1139-49.

คำค้นที่เกี่ยวข้อง:
interleukin IL-13 ไซโตไคน์ cytokine T-helper type 2 Th2 immunoglobulin E IgE โรคภูมิแพ้ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง atopic dermatitis atopic eczema proinflammatory cytokine chemokine atopic inflammation IL-4 IL-4 receptor alpha subunit IL-
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้