หน่วยคลังข้อมูลยา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเม็กซิโก

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 5 เดือน เมษายน ปี 2552 -- อ่านแล้ว 1,853 ครั้ง
 
การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเม็กซิโก โดยข้อมูลในวันที่ 26 เมษายน 2552 มีผู้ป่วยที่สามารถยืนยันทางห้องปฏิบัติการได้ว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ 18 ราย ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเม็กซิโกรายงานว่ามีผู้ป่วย 1,614 ราย เสียชีวิต 103 ราย ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เดียวกัน 20 ราย ใน 5 มลรัฐ ได้แก่ รัฐแคลิฟอร์เสีย 7 ราย เท็กซัส 2 ราย ซึ่งทั้ง 2 รัฐนี้มีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก รัฐนิวยอร์ก 8 ราย แคนซัส 2 ราย โอไฮโอ 1 ราย ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงและไม่มีผู้เสียชีวิต การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดจากคนสู่คน ไม่พบว่ามีการติดต่อมาจากสุกร โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเม็กซิโกนี้เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 (A/ H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของสุกรเป็นส่วนใหญ่ และมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคนและเชื้อไข้หวัดที่พบในนกด้วย ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ยังคงไวต่อยา oseltamivir และ zanamivir แต่ผลการตรวจเชื้อไวรัสนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าเชื้อนี้ดื้อต่อยาต้านไวรัส amantadine และ rimantadine ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตใช้อยู่ในปัจจุบันที่จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ได้ เชื้อไวรัสนี้แพร่ระบาดจากคนไปสู่คนโดยติดต่อทางการไอและจาม เนื่องจากมีเชื้อไวรัสอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อเช่น ผ้าเช็ดหน้า ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ เป็นต้น อาการของโรคนี้จะมีอาการใกล้เคียงกับอาการโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติ เช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีอาเจียน ท้องเสียด้วย ผู้ป่วยที่สหรัฐมีอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่หายป่วยโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยหลายรายในเม็กซิโกมีอาการปอดอักเสบรุนแรง (หอบ หายใจลำบาก) และเสียชีวิต คำแนะนำในการป้องกันและดูแลตนเองจากการติดเชื้อ คือไม่ควรเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดการระบาด ได้แก่ เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา แคนาดา เป็นต้น ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ภายใน 7 วันหลังจากเดินทางกลับให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างเข้มงวด การสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงสามารถทำได้โดย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม สวมผ้าปิดปากปิดจมูกเมื่อมีการไอหรือจาม ส่วนการรับประทานเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากหมู สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะถูกทำลายด้วยความร้อนจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทางประเทศไทยได้เตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์โดยกรมควบคุมโรคได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo scan) ที่สนามบินนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อคัดกรองผู้โดยสารที่มีอาการไข้และสำรองยา oseltamivir ไว้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขไทยยังได้รับแจ้งจากองค์การอนามัยโลกว่า องค์การอนามัยโลกได้ประกาศจัดความรุนแรงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 คือเชื้อมีการติดต่อจากคนสู่คน มีการแพร่ระบาดในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
 
ข่าวยาล่าสุด
    ดูข่าวยาทั้งหมด


หน่วยคลังข้อมูลยา

447 ถ.ศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
 
ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศฯ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล
Copyright © 2013-2020
 
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้